โครงการวิจัย  เรื่อง การพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวยุคเจเนอเรชั่นแอลฟาในบริบทสังคมไทย

เพราะเด็กและเยาวชนยุคเจเนอเรชั่นแอลฟา จะกลายเป็นกำลังสำคัญ
ในการขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต การพัฒนาเด็กและเยาวชน
ให้มีคุณภาพ ความเข้มแข็งของครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของสมาชิกในครอบครัว และคุณภาพชีวิต ของครอบครัว

จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในโลกที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งต้องพัฒนาประเทศให้ทัดเทียม กับอารยประเทศ ในกระแสยุคสังคมพหุวัฒนธรรม และให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิตอลในศตวรรษที่ 21 และการเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยไปสู่ประเทศในโลกที่หนึ่ง ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2575 ภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)  โดยกำหนด เป้าหมายครอบคลุมใน 4 มิติคือ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม (Social Wll-Beings) การยกระดับคุณค่า มนุษย์ (Human Wisdom) และการรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) ซึ่งการยกระดับคุณค่ามนุษย์เป็นการพัฒนาคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” ควบคู่ไปกับการเป็น “คนไทย 4.0 ในโลกที่หนึ่ง” เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Strength from Within) และเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่ “สังคมไทย 4.0” นั่นคือ สังคมที่มีความหวัง (Hope) สังคมที่เปี่ยมสุข (Happiness) และสังคม ที่มีความสมานฉันท์ (Harmony) ในขณะที่โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งความแตกต่างสุดขีด (Age of extremity) ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับประชากรหรือพลเมืองของประเทศ (Citizen centricity) มากกว่าเศรษฐกิจ (มติชนออนไลน์, 2559: ออนไลน์) ทำให้บุคคลที่เกิดมาในแต่ละยุคสมัยหรือแต่ละช่วงเวลามีวิถีชีวิตและคุณลักษณะที่แตกต่างกัน  โดยในยุคเจเนอเรชั่นแอลฟา (Generation Alpha) คือเด็กที่เกิดในปี ค.ศ. 2010-2015 หรือ พ.ศ. 2553-2568 ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการให้ความสำคัญ ในการทำความเข้าใจกับบุคคลที่เกิดในยุคเจเนอเรชั่น แอลฟา (Generation Alpha) (Nagy & Kölcsey, 2017: 110-112) จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเด็กและเยาวชนยุคเจเนอเรชั่นแอลฟา จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพ ความเข้มแข็ง ของครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ของสมาชิกในครอบครัว และคุณภาพชีวิตของครอบครัว ตลอดจนความสามารถ ในการควบคุมและแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ดังปรากฏในร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) คือการพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะคิด วิเคราะห์ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีจิตสำนึกที่ดีงาม มีความรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่งานและรายได้ที่สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ครอบครัวมีความอบอุ่น ชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมถึงสังคมมีความปรองดอง สามัคคี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศได้ต่อไป หรือในยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่ระบุถึงยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพคน ครอบครัว ชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสร้างระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยมีเป้าหมาย หนึ่งคือครอบครัวสามารถดูแลสมาชิกในครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย เด็กและเยาวชนมีทักษะที่ สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมากขึ้น

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ครอบครัวเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความเข้มแข็งของครอบครัวจะเป็นเกราะที่จะช่วยนำพาครอบครัวผ่านวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่มีสาเหตุเกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในครอบครัว ได้เพื่อให้ครอบครัวเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนสามารถดำเนินชีวิตไปในทิศที่ถูกทาง และสามารถป้องกันปัญหาต่างๆในสังคมไทย การพัฒนาเสริมสร้าง ครอบครัวให้เข้มแข็งจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเด็กและเยาวชนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต (ทิพย์วัลย์ สุรินยา, 2549: 103-104) 
บริบทสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ ทิศทางแนวโน้มการพัฒนาสังคมของประเทศสู่สังคมดิจิตอล มี การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวัฒนธรรมต่างๆ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในอีก 5 ปีข้างหน้าอยู่ในสังคมยุคใหม่ที่มีลักษณะของ 1) สังคมยุคดิจิตอล มีการสื่อสารผ่านเครือข่าย ออนไลน์มากขึ้น ลักษณะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเปลี่ยนไป 2) เป็นยุคที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว มีโอกาสนำไปสู่ พฤติกรรมเสี่ยงด้านต่างๆ ได้ 3) สังคมเป็นพหุวัฒนธรรม ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา มีความแตกต่างหลากหลาย 4) มีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มีการแข่งขันสูง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมลดน้อยลง 5) ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัว ที่หย่าร่างกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีช่องว่างระหว่างวัยสูงอายุกับเด็ก และเยาวชน 6) โครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุมีสัดส่วนผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กและเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุต่อไป เป็นต้น  เด็กและเยาวชนในสังคมยุคใหม่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับบริบท โดยสามารถปรับตัว อยู่ภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย มีความรู้ความสามารถและทักษะด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสม และเป็นต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 

เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าและมีโอกาสเสี่ยงจากภัยออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยครอบครัวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ รวมถึงความฉลาด ทางสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก ปี 2560 เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้า คิดเป็นร้อยละ 21.4 และในปี 2559 เด็กวัยเรียนมี IQ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 สูงขึ้นกว่าปี 2554 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 94 ในปี 2554 (ระดับปกติ 90 – 110) ส่วน EQ ยังมีปัญหาในด้านการขาดความมุ่งมั่นและขาดทักษะในการแก้ไข ปัญหา ทั้งนี้ปัจจัยด้านครอบครัวและการเลี้ยงดู อาทิ ระดับการศึกษาและรายได้รวมถึงพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัว/ผู้เลี้ยงดูเด็ก ส่งผลต่อ การส่งเสริมพัฒนาการและการพัฒนา IQ และ EQ ของเด็ก ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กให้มีพัฒนาการ เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ เด็กไทยยังขาดทักษะในการคัดกรองเนื้อหาที่สร้างสรรค์หรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นถึงการขาดความฉลาด ทางดิจิทัล (Digital intelligence quotient: DQ) ประกอบกับการใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตสูงและมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อสติปัญญาและวุฒิภาวะของเด็กที่จะส่งต่อไปยังช่วงวัยอื่น รูปแบบครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลง จากครอบครัวที่มีลักษณะดั้งเดิมมาเป็นครอบครัวที่มีรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ครอบครัวเดี่ยว ได้แก่ คู่สามี-ภรรยาที่ไม่มีบุตร ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวที่มิได้อาศัยอยู่ด้วยกัน (Living Apart Together: LAT) ครอบครัวขยาย ได้แก่ ครอบครัวสามรุ่น ครอบครัวข้ามรุ่น เป็นต้น รวมถึงครัวเรือนที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวคู่สามีภรรยาและไม่มีลูก และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยังเป็นปัญหาสังคมเรื้อรังและทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบ ในระดับความสัมพันธ์ของครอบครัวแล้ว ยังส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้ว

จากผลการสำรวจของสำนักพัฒนาสังคมเกี่ยวกับข้อมูลการกระทำความรุนแรงในครอบครัวในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2564  พบว่ามีจำนวนผู้ถูกกระทำ จำนวน 1,084ราย และผู้กระทำ จำนวน 1,079 ราย โดยช่วงอายุ 18-30 มีจำนวนผู้ถูกกระทำสูงสุด จำนวน 362 รายคิดเป็นร้อยละ 33.39 %  และช่วงอายุ
เดียวกันมีผู้กระทำสูงสุด จำนวน 342 รายคิดเป็นร้อยละ 31.70 %

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมคนและสังคมเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกอย่างพลิกผัน (Disruptive World) และกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ตลอดจนที่ Strong, DeVault, Sayad และ Cohen (2001) ได้กล่าวว่าครอบครัวเป็นสถาบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งด้านโครงสร้าง กระบวนการ พลวัตร และหน้าที่ ต้องปรับแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวตามอยู่เสมอ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาสื่อดิจิทัลประเภทเว็บไซต์ CMS (Content Management System) เว็บไซต์ประเภทมีระบบจัดการเนื้อหาอยู่เบื้องหลัง โดยเลือกใช้แพลตฟอร์ม WordPress ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเนื้อหา ภายในเว็บไซต์ เป็นสื่อดิจิทัลประเภท E-Book หรือหนังสือออนไลน์ และ แอนิเมชัน  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวยุคเจเนอเรชั่นแอลฟา ในบริบทสังคมไทย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการเกิดปัญหาสังคม อันจะนำไปสู่สังคมไทยในอนาคตที่เป็นสังคมคุณภาพต่อไป

E-MAIL
pitchayan@g.swu.ac.th