Tips and Tricks: คู่มือฉบับย่อสำหรับผู้ปกครองเด็กเจเนอเรชั่นแอลฟา

โลก คือ สังคมแห่งวิวัฒนาการ เทคโนโลยีทันสมัยและพัฒนาการอันลํ้าหน้า ช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน อัตราการแข่งขัน ก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน และแก่งแย่งจําเป็นต้องพึ่งแรงกาย แรงใจของผู้ปกครอง เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเลี้ยงเด็กเจเนอเรชั่นแอลฟา หรือ เด็กที่เกิดมาพร้อมกับยุคโลกาภิวัตน์ พวกเขาต้องเผชิญหน้า กับการเปลี่ยนแปลง และความกดดันที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

คำถามคือ ในฐานะผู้ปกครอง เราจะทำอย่างไรให้ลูกๆ พร้อมรับมือกับสังคมแบบนี้ดีล่ะ?

แน่นอนว่า เด็กเจเนอเรชั่นแอลฟาควรได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความสามารถ ศีลธรรม การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ฯลฯ แต่อีกอาวุธสำคัญที่เราต้องปลูกฝัง คือ ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ หรือ RQ (Resilience Quotient) ซึ่งเป็นความสามารถในการฟื้นตัวและ รับมือกับความล้มเหลว เพื่อให้พวกเขาพร้อมเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ในอนาคต

เมื่อมีการแข่งขัน ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ แต่คงไม่มีใครสามารถเป็นผู้ชนะได้ตลอด อุปสรรคและความผิดหวัง คือ สิ่งที่พวกเราทุกคนรวมถึง เด็กเจเนอเรชั่นแอลฟาต้องเผชิญ แต่หัวใจสำคัญ คือ หลังจากล้มลง พวกเขาจะกลับมายืนอีกครั้งได้หรือไม่ และในฐานะผู้ปกครอง เราก็คงอยากให้ลูกของเราเป็นหนึ่งในคนที่ฮึดสู้และกลับมายืนได้อีกครั้ง

ดังนั้น ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ จึงเป็นหนึ่งในความสามารถที่ขาดไม่ได้ และข้อดีคือ เราสามารถปลูกผังความสามารถนั้นได้จากการเลี้ยงดูนั่นเอง

อดทนสักนิด รอสักหน่อย
ความอดทนและการรอคอยฟังดูเป็นคำง่าย ๆ ที่ได้ยินจนชินหู แต่ทั้งสองคํานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นําพาเด็ก ๆ ไปสู่ทักษะที่จําเป็นต่อชีวิต
อีกหลาย อย่างไม่ว่าจะเป็น การยับยั้งอารมณ์ การแก้ปัญหา หรือแม้กระทั่งการจัดการความเครียด

คุณพ่อคุณแม่สามารถแทรกบทเรียนเรื่องความอดทนและการรอคอยลงไปในกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ ได้ เช่น การสร้างเงื่อนไขง่ายๆ 
อย่าง “ถ้าอยากกินขนม ต้องเก็บของเล่นที่ตัวเองเล่นทิ้งไว้ก่อน” หรือ “การอธิบายเงื่อนไขของเกมต่าง ๆ ” การเรียนรู้เรื่องเงื่อนไข และกติกา เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ รู้จักปฏิบัติตามกฎของสังคม ยับยั้งการใช้อารมณ์และคิดด้วยหลักการและเหตุผลมากขึ้น

ปัญหานี้ แก้ยังไงดีนะ?
ปัญหาคือ สิ่งกวนใจที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ถ้าไม่กล้าเผชิญหน้า ก็ยากที่จะแก้ปัญหานั้นได้ ดังนั้นการฝึกให้เด็ก ๆ รับมือปัญหาจะทําให้พวกเขา มีภูมิคุ้มกัน และไม่วิตกกังวลเมื่อเจออุปสรรค

คุณพ่อคุณแม่อาจหยิบยกปัญหาหรือเรื่องเล็ก ๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวันมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับ การรับมือปัญหา เช่น “วันนี้เราจะทำขนมด้วยกัน แต่อุปกรณ์ไม่ครบ ทำยังไงดี?” หรือ “เราจะออกไปปิกนิกแต่ฝนตก ทำยังไงดี?” จากนั้นลองชวนลูกพูดถึงต้นตอของปัญหา ช่วยกันหาวิธีแก้ และลงมือทำ เมื่อฝึกจนเป็นนิสัย ลูก ๆ ของเราจะพร้อมรับมือกับปัญหา และ ไม่เกรงกลัวความผิดหวัง

Basic Science วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัว
การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องทดลอง หรืออยู่หน้ากล้องจุลทรรศน์เสมอไป เพราะหัวใจหลักของวิทยาศาสตร์ คือ การฝึกฝนวิธีคิด เริ่มตั้งแต่การสังเกตปัญหา ตั้งสมมติฐาน ทดสอบ วิเคราะห์ข้อมูล และการหาข้อสรุป ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิด และ ตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ

โดยคุณพ่อคุณแม่อย่างเรามีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ออกไปผจญภัย สํารวจ หรือทํากิจกรรมหลาย ๆ อย่าง 
เช่น ทําอาหาร ทําสวน ฯลฯ ลองถามคําถามว่าเขาพบเจออะไรบ้าง มีอะไรเหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้ ลองเปรียบเทียบ สิ่งที่เพิ่งค้นพบ กับ ประสบการณ์ใหม่ เป็นต้น

การสร้างภูมิคุ้นกันทางจิตใจไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยการฝึกอย่างสม่ำเสมอและการสนับสนุนจากครอบครัว แต่รับรองว่าทักษะเหล่านี้จะกลายเป็นของขวัญล้ำค่าที่คุณพ่อคุณแม่มอบให้ลูก ๆ เพื่อให้พวกเขาก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

อ้างอิง
American Psychological Association. (2012). Resilience guide for parents and teachers. 
Retrieved March 26, 2024, from https://www.apa.org/topics/resilience/guide-parents-teachers

Amy Morin. (2021). How to Teach Kids Problem-Solving Skills. Retrieved March 26, 2024, 
 from https://www.verywellfamily.com/teach-kids-problem-solving-skills-1095015

TeachThought Staff. (2020). 8 Science-Based Strategies For Critical Thinking. Retrieved 
March 27, 2024, from https://www.teachthought.com/critical-thinking/science-based-strategies/

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2023). อาร์คิว…ภูมิคุ้มกันทางใจ. สืบค้นวันที่ 25 มีนาคม 2567 
 vจาก https://www.happyhomeclinic.com/a04-RQ.html