เจเนอเรชั่นแอลฟาและบทบาทของพ่อแม่ในยุคโลกาภิวัตน์
เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า มนุษย์จำเป็นต้องมี “อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย” เพื่อการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราลองเงยหน้าดูภาพตรงหน้าที่เราได้เห็นจนชินตา ไม่ว่าจะเป็น
เด็กวัยเตาะแตะที่กำลังจดจ่อกับหน้าจอสี่เหลี่ยม
กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่กำลังอัดวิดีโอลงสื่อโซเชียลมีเดีย
ผู้ใหญ่วัยทำงานที่กำลัง Work From Home
หรือแม้กระทั่งคุณลุงคุณป้าที่กำลังแชร์ข่าวน่ารู้ให้เพื่อนผ่านกรุ๊ปแชท
ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่อิทธิพลของเทคโนโลยี สารสนเทศและอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกหนทุกแห่ง ดังนั้นหากลองถามเด็กๆ ยุคใหม่ว่า “ปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มีอะไรบ้าง” เราอาจได้ยินคำว่า “อินเทอร์เน็ต” เป็นปัจจัยที่ 5 ก็ได้
เลี้ยงเด็กยุคดิจิทัลให้รู้เท่าทันโลกดิจิทัล
เมื่อโลกมีการพัฒนาและก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ ในทุกๆ วินาที การเลี้ยงลูกในยุคโลกาภิวัตน์แบบนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของคุณพ่อคุณแม่ในปัจจุบัน
เด็กๆ เจเนอเรชั่นแอลฟา (Generation Alpha) หรือ เด็กที่เกิดหลังปี ค.ศ. 2010 พวกเขาเกิดและเติบโตมาพร้อมกับยุคโลกาภิวัตน์ ยุคที่อินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของทุกคน
ดังนั้น ภารกิจอันแสนท้าทายของคุณพ่อคุณแม่จึงหนีไปพ้น “การเตรียมเด็กเจนแอลฟา (Gen Alpha) ให้พร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
เราทุกคนรู้ดีว่าเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากใช้ถูกวิธี เทคโนโลยีจะเปลี่ยนเครื่องมือเกรดพรีเมียมและผู้ช่วยชั้นดี แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีอาจกลายเป็นอาวุธที่จะบั่นทอนผู้ใช้ได้เช่นกัน และนี่คือบทเรียนบทแรกที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและโลกดิจิทัล
ทำยังไงให้เด็กรู้เท่าทันโลกดิจิทัล
การเข้าถึงสื่อเป็นดั่งทักษะติดตัวของเด็กเจนแอลฟา ต่อให้ไม่มีใครสอน แต่การสมัครบัญชีโซเซียลมีเดียนั้นเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส การห้ามหรือกีดกันเด็กออกจากสังคมออนไลน์จึงไม่ใช่ความคิดที่ดีสักเท่าไหร่
แต่ การรู้เท่าทันสื่อ เป็นทักษะจำที่เป็นต้องฝึกฝนและได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม เพื่อให้พวกเขาสามารถวิเคราะห์ เลือกเสพสื่ออย่างชาญฉลาด และไม่ตกเป็นเหยื่อของโลกดิจิทัล
การติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยกันกับลูกๆ เป็นอีกทางที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ และเลือก เสพสื่อจากช่องทางที่น่าเชื่อถือ เช่น ถ้าวันนี้เราได้ยินข่าวเรื่อง มิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือ ร้านค้าออนไลน์โกงเงินลูกค้า เราอาจหยิบเรื่องนี้มาคุยกับลูกว่า “เราจะป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อย่างไร แล้วเราจะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคนในโลกออนไลน์ได้อย่างไรบ้าง” หากได้ฝึกฝนและทำจนเป็นนิสัย เด็กๆ จะรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทันโลกดิจิทัล
ทลายกำแพงภาษา
อย่างที่เรารู้กันดีว่ายุคโลกาภิวัตน์ คือ โลกที่ระบบสารสนเทศหลอมรวมประชากรทั่วทุกมุมโลกให้เป็นสังคมเดี่ยว ข้อมูลและองค์ความรู้จากนานาประเทศก็อยู่ใกล้เพียงปลายนิ้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อาจกั้นเราไว้จากองค์ความรู้เหล่านั้นคือ ภาษา
การที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเรา การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เรียนหลายภาษา เปรียบเสมือนการยื่นกุญแจสู่โลกแห่งการเรียนรู้ให้ พวกเขา ยิ่งเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้มาก ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และเปิดโอกาสให้กับตัวเอง ไม่แน่ว่าองค์ความรู้เหล่านั้นอาจเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการทำงานหรือการค้นพบสิ่งต่างๆ ในอนาคตก็ได้
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเด็กๆ เข้าถึงข้อมูลได้มาก เรียนรู้ได้มาก เขาจะเห็นว่าโลกใบนี้มีอะไรให้ค้นหามากกว่าที่คิด หล่อหลอมให้พวกเขาใฝ่หาโอกาสพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอนั่นเอ
อย่าลืมหันไปมองคนรอบข้าง
แม้ที่ผ่านมาเราจะพูดถึงการใช้สื่อออนไลน์ไปซะมาก แต่อีกสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังให้เด็กเจนแอลฟาคือ “ทักษะทางสังคม” เพราะการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งกับเด็กเจนแอลฟาที่โตมากับโลกดิจิทัล การหาเพื่อนใหม่จึงเป็นเรื่องท้าทาย แต่ถ้าเด็กๆ ได้รับการกระตุ้นอย่างถูกวิธี การเข้าสังคมก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ อย่าง ฝึกการสบตา เพราะการสบตาขณะสนทนา จะทำให้บทสนทนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้พูดจะรู้สึกมั่นใจและได้รับการรับฟัง ขณะที่ผู้ฟังจะมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องราวในบทสนทนาและตอบโต้ได้อย่างเหมาะสม
หรือลองชวนเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมแสนสนุกอย่าง การเล่นบทบาทสมมติ ก็ช่วยพัฒนาทักษะสังคมได้เช่นกัน ลองสวมหมวกเป็นคนโน้นคนนี้ ช่วยกระตุ้นจินตนาการ ฝึกการตอบโต้ หาวิธีรับมือกับสถานการณ์และปัญหาที่จำลองขึ้น ระหว่างนี้ผู้ปกครองอย่างเรายังสามารถสอดแทรกความรู้เรื่องอารมณ์ให้เด็กๆ ได้อีกด้วย กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะทางสังคมที่สำคัญอย่างการสื่อสาร การแก้ปัญหา ความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ฯลฯ
ทักษะทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเตรียมพร้อม เพื่อให้เด็กๆ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สามารถเอาตัวรอดและอยู่ได้อย่างปลอดภัยภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์
อ้างอิง
K-12 Education. (2023). How can technology support the development of media literacy skills?.
Retrieved March 18, 2024, from https://www.linkedin.com/advice/0/how-can-technology-support-development-media-literacy-ad7ef
Learning Links. (n.d.). How to improve your child’s social skills.
Retrieved March 19, 2024, from https://www.learninglinks.org.au/resources/how-to-improve-social-skills/
The SIEL Project. (2022). How to Cultivate Social Intelligence in Children at Home.
Retrieved March 19, 2024, from https://www.thesielproject.com/post/how-to-cultivate-social-intelligence-in-children-at-homegad_source=1&gclid=Cj0KCQjwqpSwBhClARIsADlZ_TmG8fdLuzo2USRxStsewTkQcopoppwLpHgmVPuYoxeMK7mG3I_-25YaAoAtEALw_wcB
Youth Endowment Fund. (n.d.). Social skills training. Retrieved March 19, 2024, from https://youthendowmentfund.org.uk/toolkit/social-skills-training/gad_source=1&gclid=Cj0KCQjwqpSwBhClARIsADlZ_TlAk_i67B4FNWUQKYI7f0y2H6EGzbuv3S6GquvfWTtRP_zCvIWWyw8aAr86EALw_wcB
MILO. (ม.ป.ป.). GEN ALPHA คืออะไร วิธีเลี้ยงลูกเจนอัลฟ่ายุคใหม่ที่คุณแม่ควรรู้.
สืบค้นวันที่ 18 มีนาคม 2567 จาก https://www.milo.co.th/all-blog/วิธีเลี้ยงลูกเจนอัลฟ่า
Starfish Academy. (2564.). Gen Alpha เด็กยุคใหม่ที่ฉลาดที่สุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์.
สืบค้นวันที่ 18 มีนาคม 2567 จาก https://www.starfishlabz.com/blog/140-gen-alpha-เด็กยุคใหม่ที่ฉลาดที่สุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์